เจาะเบื้องหลัง! ‘พี่กล้อง Jones Salad’ ร้านสลัดและเพจสุขภาพ ที่กว่าจะเจ๋ง เคยเจ๊งมาก่อน

Posted by

เจาะเบื้องหลัง! ‘พี่กล้อง Jones Salad’ ร้านสลัดและเพจสุขภาพ ที่กว่าจะเจ๋ง เคยเจ๊งมาก่อน

ถ้าพูดถึงแบรนด์ร้านสลัดออร์แกนิกที่ไม่ได้ขายแค่ผักอย่างเดียว แต่ยังขายคอนเทนต์เรื่องสุขภาพ ผ่านตัวการ์ตูนลุงโจนส์ เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนต้องนึกถึงแบรนด์ ‘โจนส์สลัด (Jones’ Salad)’ กันอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ‘พี่กล้อง – อาริยะ คำภิโล’ ที่ได้แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจมาจากปัญหาสุขภาพที่ตัวเองเจอ  ในวันนี้ คอลัมน์ The Success : การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ของ Dek-D จะมาบอกเล่า ช่วงชีวิตในวัยเรียน รวมถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจว่ากว่าแบรนด์จะโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง  

เจาะเบื้องหลัง! 'พี่กล้อง Jones Salad' ร้านสลัดและเพจสุขภาพ ที่กว่าจะเจ๋ง เคยเจ๊งมาก่อน
เจาะเบื้องหลัง! ‘พี่กล้อง Jones Salad’ ร้านสลัดและเพจสุขภาพ ที่กว่าจะเจ๋ง เคยเจ๊งมาก่อน

เรื่องเรียนไม่ค่อยเด่น เพราะเน้นกิจกรรม

ย้อนกลับไปสมัยวัยเรียน ช่วงประถมพี่กล้องเรียนอยู่ที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นแรกของที่นี่ ก่อนจะย้ายไปเรียน ม.ต้น ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่โรงเรียน หลังจากนั้น ม.ปลาย จึงเลือกเรียนต่อสายวิทย์ – คณิต ที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม เรื่องเรียนของพี่กล้องอาจจะไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่นัก แต่เรื่องกิจกรรมรับรองว่าไม่แพ้ใครแน่นอน ไม่ว่าจะรับหน้าที่เป็นประธานนักเรียน รวมถึงเป็นนักกีฬาเทควันโดประจำจังหวัด ที่ได้ไปแข่งขันและกวาดรางวัลมาอย่างมากมาย  

ตอนม.ปลาย เป็นช่วงที่ทำกิจกรรมเยอะมาก ด้วยความที่ต้องไปแข่งกีฬาเป็นประจำ จึงไม่ค่อยมีเวลาเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่าเพื่อนคนอื่นมากนัก แต่โชคดีที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยโควตานักกีฬา และต้องมีการสอบวัดความรู้ทางด้านวิชาการที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด ประกอบกับสอบปฏิบัติด้วยการเล่นเทควันโดอีกด้วย จากประสบการณ์การแข่งขันและรางวัลที่สะสมมาหลายปี ทำให้พี่กล้องสามารถสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้อย่างราบรื่น

เชื่อว่าคณะเศรษฐศาสตร์ จะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ

พี่กล้องเกิดและเติบโตมากับครอบครัวที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยความที่เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจมาตลอด จึงทำให้มีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจมาตั้งแต่วัยเด็ก ตอนมัธยมเคยวางแผนเอาไว้ว่า ปริญญาตรีจะเรียนคณะอื่นไปก่อน แล้วค่อยมาเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจก็ยังไม่สาย แต่พี่กล้องมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดยหนุ่มเมืองจันท์ เนื้อหาบางส่วนถูกเขียนเอาไว้ประมาณว่า คนที่ประสบความสำเร็จในโลกหลายๆ คน ส่วนใหญ่เรียนจบเศรษฐศาสตร์มา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พี่กล้องเลือกเรียนคณะนี้ แม้จะยังไม่รู้ว่าต้องเรียนเกี่ยวกับอะไรก็ตาม แต่พี่กล้องเชื่อว่า ความรู้ที่ได้จากวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น น่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจหลังเรียนจบ

เศรษฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ต้องศึกษาพฤติกรรมมนุษย์และสังคม ทั้งการผลิต การบริโภค การกระจายสินค้า และการบริการ รวมทั้งการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและตัวเลข เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของคนที่เรียนในคณะนี้ต้องศึกษาให้เข้าใจ  

เนื่องจากช่วง ม.ปลาย ไม่ค่อยได้โฟกัสเรื่องเรียนมากนัก พอเข้ามหาวิทยาลัยพี่กล้องกลับกลายเป็นเด็กเนิร์ดที่ขยันเรียน ขยันอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะรู้ว่าที่ผ่านมาตัวเองไม่ค่อยตั้งใจเรียน และกลัวเรียนไม่ทันเพื่อนในคณะ ตอนปี 1 พี่กล้องจึงตั้งใจอ่านหนังสือมากขึ้น ทั้งหนังสือเรียนของมหาวิทยาลัยตัวเอง และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ผลของการตั้งใจทำให้พี่กล้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ที่เหนียวแน่น และยังได้เป็นพี่ติวให้กับน้องๆ เฟรชชี่ตอนปี 2 อีกด้วย เมื่ออยู่ปี 3 ก็ไม่ค่อยได้โฟกัสเรื่องเรียนเท่า 2 ปีแรกมากนัก เนื่องจากไปทำงานธุรกิจเครือข่ายขายตรงที่บริษัทแห่งหนึ่ง แบกเครื่องกรองน้ำไปขายตามบ้าน หรือคนรู้จัก ตอนนั้นตั้งใจทำมาก และมีความคิดว่าสิ่งนี้คือเป้าหมายในชีวิตอันใหม่ของตัวเอง แต่ทำมาจนเรียนจบก็รู้สึกว่า งานนี้ไม่ค่อยตอบโจทย์กับความต้องการของตัวเองมากนัก จึงตัดสินใจเลิกทำไป  

พี่กล้อง อาริยะ คำภิโล ผู้่ก่อตั้งแบรนด์ Jones' Salad
พี่กล้อง อาริยะ คำภิโล ผู้่ก่อตั้งแบรนด์ Jones’ Salad

ช่วงที่ทำงานธุรกิจเครือข่าย พี่กล้องแทบไม่ได้เข้าเรียนเลย เพราะเอาเวลาไปทำงานหมด ซึ่งจะใช้เวลาอ่านหนังสือแค่ 3 วันก่อนสอบเท่านั้น วันแรกจะให้เพื่อนติวให้ เพื่อให้รู้ภาพรวมของข้อสอบ วันที่สองอ่านเอง ในจุดที่ยังไม่เข้าใจหรือต้องการขยายความชัดเจน ส่วนวันที่สามจะไปติวให้เพื่อนอีกกลุ่ม โชคดีที่พี่กล้องมีความรู้พื้นฐานที่แน่นมากอยู่แล้ว จึงทำให้การอ่านหนังสอบใช้เวลาไม่มาก และสามารถสอบผ่านไปได้  

พี่กล้องบอกว่า การอ่านหนังสือ 3 วันก่อนสอบ อาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่สิ่งที่อยากฝากถึงน้องๆ ทุกคนก็คือ เวลาอ่านหนังสืออยากให้เข้าใจแก่นและภาพรวมของเนื้อหาให้ได้ แล้วเราจะสามารถเอาไปต่อยอด หรือสามารถเข้าใจเรื่องนั้นจริงๆ ได้ด้วยเวลาไม่มาก ทั้งนี้การเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ ยังฝึกให้พี่กล้องคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น เข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจ การเงิน และยังสามารถมองภาพรวมของการทำธุรกิจ จนนำมาต่อยอดกับการทำธุรกิจในอนาคตได้จริง

เปลี่ยนวิกฤตสุขภาพ เป็นโอกาสสร้างธุรกิจ

หลังจากเรียนจบในวัย 22 ปี เป็นช่วงที่กระแสร้านชานมไข่มุกกำลังมาแรง พี่กล้องจึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจแรกกับเพื่อน ด้วยการเปิดร้านชานมไข่มุกชื่อว่า ‘BuddyBear’ ในตอนนั้นธุรกิจเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว ได้ทุนคืนทันใจและได้กำไรหลายแสน จนสามารถขยายสาขาได้มากกว่า 10 สาขา แต่เป็นการขยายสาขาที่รากฐานยังไม่มั่นคง ประกอบกับคู่แข่งที่มากขึ้น ทำให้สาขาหลังๆ เริ่มไม่คืนทุนหรือได้กำไรเร็วเท่ากับช่วงแรก จนต้องยอมถอนหุ้นจากร้านชานมไข่มุก ซึ่งนับว่าเป็นบทเรียนสำคัญของพี่กล้องที่เป็นเครื่องย้ำเตือนในใจทุกครั้งที่จะทำธุรกิจ

ช่วงที่ทำร้านชานมไข่มุกพี่กล้องมัวแต่วุ่นกับการทำงาน จนไม่มีเวลาดูแลหรือสังเกตตัวเอง มารู้ตัวอีกทีก็มีสิ่งผิดปกติในร่างกายไปเสียแล้ว โดยตรวจพบเนื้องอกที่ข้อพับขา ซึ่งคุณหมอยืนยันว่ามีโอกาสสูงที่ก้อนเนื้อนั้นจะเป็นเซลล์มะเร็ง พอตรวจสอบแล้วยังโชคดีที่ไม่ได้เป็นเซลล์มะเร็งอย่างที่คิด หลังจากที่ผ่าตัดและรักษาตัวเองให้หายดีแล้ว จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พี่กล้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ด้วยการทานผักวันละชาม  

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว สมัยนั้นไม่ได้มีร้านอาหารสุขภาพ หรือเทรนด์สุขภาพอย่างทุกวันนี้ ดังนั้น อาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพ หรือผักสดดีๆ จึงหาทานได้ยาก ทำให้พี่กล้องมองเห็นช่องวางของการตลาดนี้ และเห็นโอกาสว่า คงมีคนที่อยากทานอาหารสุขภาพเหมือนตัวเองเยอะ จึงเริ่มอยากทำร้านอาหารเกี่ยวกับสุขภาพขึ้นมา

ที่มาของร้าน ‘โจนส์สลัด’

ถึงแม้ว่าจะมีไอเดียอยากทำร้านอาหารสุขภาพ แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำทันที เพราะยังทำอาหารไม่เป็น โชคดีที่ตอนนั้นพี่พลอย (คุณญาณิน คำภิโล – ภรรยา) ไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย และมาเล่าให้ฟังว่าที่ออสเตรเลียมีธุรกิจใหม่ที่กำลังเป็นกระแสมากๆ นั่นคือ ร้านสลัด ประกอบกับ ‘น้าโจนส์’ ซึ่งเป็นน้าเขยของพี่พลอยชอบทำสลัดให้ทาน และรสชาติอร่อยมาก ในขณะที่พี่กล้องในวัย 25 ปี มองว่านี่เป็นโอกาสดีที่สามารถนำมาต่อยอดได้ จึงตัดสินใจบินไปเรียนปรุงน้ำสลัดกับน้าโจนส์ถึงออสเตรเลีย หลังจากนั้นจึงนำมาปรับสูตรเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับคนไทย เมื่อได้สูตรน้ำสลัดที่อร่อยถูกใจแล้ว จึงเปิดร้านสาขาแรกในปี 2556 ที่ศูนย์อาหารแห่งหนึ่ง โดยใช้ชื่อร้านว่า ‘โจนส์สลัด (Jones’ Salad)’ ที่มาจากชื่อของน้าโจนส์เจ้าของสูตรน้ำสลัดนั่นเอง  

พี่กล้องใช้เงินลงทุนไปกับการเตรียมวัตถุดิบและค่าเช่าที่ไปจนหมด จึงทำให้ไม่มีงบประมาณในการประชาสัมพันธ์ร้านมากนัก แต่พี่กล้องมั่นใจว่าคุณภาพอาหารอร่อยจริง จึงอยากให้ลูกค้าลองชิมก่อน จึงจัดโปรโมชันเปิดร้าน 3 วันแรก ชื่อโปรโมชันว่า ‘มื้อนี้ฟรีหรือจ่าย’ โดยให้ลูกค้าสุ่มหยิบลูกบอลในกล่องจับฉลาก มีลูกบอล 10 ลูก แบ่งเป็น 5 ลูกจ่ายเงินปกติ แต่อีก 5 ลูกทานฟรีไปเลย ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่บ้าบิ่นมากๆ แต่ผลตอบรับที่ได้นั้นเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะเกิดการบอกต่อปากต่อปากจนลูกค้ามาต่อคิวเพียบ และเมื่อโปรโมชันสิ้นสุดลงก็พบว่ายังมีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเป็นประจำ นั่นจึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ลูกค้าไม่ได้มาทานเพราะโปรโมชันอย่างเดียว แต่ทานเพราะคุณภาพและรสชาติที่ดี

เจออุปสรรคครั้งใหญ่ ทำให้ต้องสร้างเอกลักษณ์ใหม่ขึ้น

ในขณะที่ธุรกิจกำลังเติบโตไปได้อย่างสวยงาม แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ เลย หลังจากที่เปิดร้านสาขาแรกได้ไม่ถึง 2 ปี ต้องเจอกับมรสุมบางอย่าง เมื่อสัญญาเช่าร้านกำลังหมดลงในไม่ช้า และสัญญาใหม่เจ้าของที่ก็ดันขอเพิ่มต้นทุนไปหลายสิบเท่า จากเดือนละ 30,000 บาท เป็น 300,000 บาท ตอนนั้นพยายามต่อรองแล้ว แต่เจ้าของที่ไม่ยอมพร้อมบอกว่า ถ้าจ่ายไม่ไหวก็ออกได้เลย และเขาก็พร้อมจะนำร้านแบบเดียวกับเรามาขายแทนทันที สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจย้ายออก เพราะสู้ค่าเช่าที่ไม่ไหว ก่อนจะย้ายไปเปิดเป็นร้านรูปแบบ Standalone ที่ห้างเอสพลานาด รัชดาฯ

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พี่กล้องได้บทเรียนใหม่ว่า แค่คุณภาพอาหารที่ดีอาจไม่พอ จึงตัดสินใจกอบกู้แบรนด์ Jones’ Salad อีกครั้ง และเพื่อไม่ให้พบปัญหาแบบเดิม สิ่งที่ต้องโฟกัสเพิ่มจากคุณภาพอาหารก็คือ การสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง ช่วงแรกที่ทำเพจยังไม่มีงบประมาณมากพอในการจ้างเอเจนซี่ทำการตลาด ดังนั้นพี่กล้องจึงตัดสินใจ เอาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองที่มีอยู่เข้าสู้  ด้วยการเปิดเพจ Facebook และสร้างคาแรกเตอร์ตัวหนึ่ง ชื่อว่า ‘ลุงโจนส์’ ที่คอยนำเสนอคอนเทนต์ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ในคอนเซปต์ ‘ทำเรื่องสุขภาพให้ง่าย สนุก และอร่อย’ โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ และบทความวิจัยต่างๆ นำมาย่อยให้เข้าใจง่าย สอดแทรกมุกตลก และนำเสนอผ่านการ์ตูน อินโฟกราฟิก ที่ถูกจริตคนรุ่นใหม่ ทำให้ร้านมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับร้านสลัดทั่วไป และคนส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้จักแบรนด์มากขึ้น ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามกว่า 1.3 ล้านคน  

ใน 2-3 ปีแรกที่ทำเพจ พี่กล้องเป็นคนคิดคอนเทนต์ วาดการ์ตูน และคอยตอบคำถามจากลูกค้าด้วยตัวเอง ช่วงแรกใช้เวลาคิดแต่ละคอนเทนต์ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่พอทำไปนานๆ ก็เริ่มจับทางได้และทำได้คล่องขึ้น หลังจากที่แบรนด์เริ่มเติบโตมากขึ้นก็มีทีมงานเข้ามาช่วยเสริมทัพอีกแรง ปัจจุบันพี่กล้องไม่ได้เป็นคนคิดคอนเทนต์แล้ว มอบหน้าที่นี้ให้ทีมงานเป็นฝ่ายจัดการ แต่ยังคอยตรวจสอบคอนเทนต์ให้อยู่เสมอ ก่อนที่จะถูกโพสต์ลงบนเพจ

แน่นอนว่าการทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย ย่อมเกิดประเด็นดราม่าเป็นธรรมดา และยิ่งต้องทำคอนเทนต์ตามกระแสก็ยิ่งเกิดดราม่าได้ง่าย โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งพี่กล้องยอมรับว่า บางคอนเทนต์ก่อนหน้านี้อาจจะใช้คำพูดสื่อสารที่รุนแรงเกินไป จนทำให้เกิดประเด็นการถกเถียงขึ้นมา ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เรียนรู้ว่า คนเรามันมีความคิดหลากหลายและแตกต่างกัน หลังจากนั้นจึงได้มีการปรับแนวคิดสำหรับการทำคอนเทนต์มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะทำคอนเทนต์ตามกระแส และพูดถึงการเมืองเหมือนเดิม แต่จะพยายามคิดว่าตัวเองเป็นอีกฝ่ายเสมอ ถ้ารู้สึกว่า คำพูดนี้แซวแรงเกินไปก็จะไม่ทำหรือปรับคำให้เบาลง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้รับสารมากเกินไป

จุดอ่อนของร้านอาหารสุขภาพที่ต้องระวัง!

จุดอ่อนของธุรกิจร้านสลัด คือ ความสะอาดและปลอดภัย เพราะทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ล้วนเป็นของสดทั้งสิ้น ดังนั้น สุขอนามัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะผักสลัดที่ร้านนำมาขายเป็นผักปลอดสารพิษ การกำจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น หนอน แมลง จึงต้องมีวิธีกำจัดที่มั่นใจได้ว่าจะไม่หลงเหลือสิ่งเหล่านี้แล้ว โดยทางร้านมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะได้ทานผักที่สดสะอาด และปลอดภัยแน่นอน

ผักสลัดจะถูกส่งมาจากฟาร์มต่างๆ ของเกษตรกรที่เป็นพาร์ตเนอร์ เมื่อถึงครัวกลาง พนักงานจะทำหน้าที่ล้าง ตัดแต่งผัก ปรุงน้ำสลัด เตรียมวัตถุดิบต่างๆ ให้พร้อม จากนั้นจะมีรถที่เป็นห้องเย็นนำวัตถุดิบไปส่งตามสาขา ซึ่งการเตรียมทุกอย่างที่ครัวกลางจะทำให้สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบได้ และมีระบบขนส่งที่ชัดเจน ดังนั้น คุณภาพและรสชาติของทุกสาขาจะอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

แน่นอนว่าแต่ละสาขามีการใช้จำนวนวัตถุดิบไม่เท่ากัน ดังนั้น ทางร้านต้องมีการทำสถิติการรับของ ส่งของ และเช็กสต็อกวัตถุดิบทุกวันว่าขาดเหลือเท่าไหร่ ซึ่งการทำงานส่วนนี้พี่กล้องก็ได้นำเอาความรู้จากการเรียนเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เช่น การคำนวณต้นทุนอาหาร (Food cost) ว่าร้านทำยอดขายสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายวัตถุดิบต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้นำมาวางแผนการเตรียมวัตถุดิบได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งยังช่วยลดปัญหา Food Waste ได้อีกทางหนึ่ง  

ปัจจุบัน Jones’ Salad มีทั้งหมด 23 สาขา ทั้งในห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนสาขาอาจไม่ได้มีเยอะมาก เพราะต้องการขยายไปได้อย่างมั่นคง เนื่องจากเคยมีบทเรียนในอดีตมาแล้วจากการขยายสาขาเร็วเกินไป นอกจากนี้ ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวสำหรับคนชอบทานผัก ชื่อร้าน ‘สมุนตุ๋น’  เป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำซุปสมุนไพรที่ออกแบบมาให้ก๋วยเตี๋ยวทานคู่กับผักที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละเมนู

กุญแจสำคัญที่ทำให้โจนส์สลัดครองใจลูกค้า

หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Jones’ Salad เป็นที่จดจำ และครองใจลูกค้าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการทำคอนเทนต์ พูดคุยสื่อสารและสร้างสังคมในหมู่คนที่รักสุขภาพ โดยมีคาแรกเตอร์ ‘ลุงโจนส์’ เป็นสื่อกลาง คอยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ทำให้แบรนด์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ร้านขายสลัดทั่วไป แต่ยังเป็นเหมือนเพื่อนสำหรับคนที่รักสุขภาพอีกด้วย  

ตลอดจนมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนร้านตลอดเวลา เช่น เพิ่มเมนูอาหารให้หลากหลาย การจัดการภายในร้าน เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ บริการที่ดี และได้รับความพึงพอใจมากที่สุด และเป้าหมายในอนาคตที่แบรนด์โจนส์สลัดวางไว้ คือ อยากให้คนไทยได้ทานผักวันละชาม และอยากเป็นอันดับ 1 ของ Healthy fast casual restaurants เป็นอาหารจานด่วนที่ดีต่อสุขภาพ อร่อย และคุ้มค่า ในใจคนไทยให้ได้  

ส่วนแนวคิดที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จของพี่กล้อง เป็นแนวคิดที่เรียบง่ายจากคุณพ่อคุณแม่ที่คอยพร่ำสอนตั้งแต่เด็กว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเราตั้งใจทำและทำให้เต็มที่มันจะประสบความสำเร็จแน่นอน ซึ่งพี่กล้องยึดแนวคิดนี้มาตลอด และตั้งใจทำร้านอย่างจริงจัง คอยเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอยู่เสมอ จนทำให้ประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้  

สิ่งที่อยากจะย้อนกลับไปบอกตัวเองในวัยเรียน

ถึงแม้จะย้อนเวลากลับไปได้จริงๆ แต่พี่กล้องคิดว่าต่อให้จะบอกอะไรตัวเองในวัยนั้น ก็อาจไม่ได้ช่วยอะไร เพราะว่าตัวเองในวัยเรียนก็คงไม่ได้เข้าใจอะไรเท่ากับตัวเองตอนนี้อยู่ดี เพราะทุกวันนี้ที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้กิดมาจากการที่เคยล้ม เคยผิดพลาดมาก่อน ถ้าสมมติว่ารู้ทุกอย่าง ตั้งแต่แรก ไม่ต้องเจอปัญหาอะไรเลย ก็อาจจะไม่มีเราในวันนี้ที่เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่เก่งขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้ดีมากขึ้น

ฝากถึงน้องๆ วัยเรียน ชาว Dek-D.com  

สำหรับน้องๆ วัยเรียนที่อยู่ในช่วงสับสน ยังไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะไปในทิศทางไหนดี อย่ากลัวที่จะลงมือทำ อยากให้ลองเปิดใจทำสิ่งที่ตัวเองสนใจก่อน ลองทำซ้ำๆ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งนี้ใช่แนวทางที่เราต้องการหรือเปล่า ลองไปจนถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราเข้าใจมันแล้ว แล้วค่อยมาตัดสินใจว่าจะทำต่อมั้ย  แต่ทุกครั้งที่ลองอยากให้มีแนวคิดที่ว่า เราจะทำสิ่งนี้โดยที่จะไม่รู้สึกเสียใจภายหลัง คือ ทำให้เต็มที่ จนรู้และเข้าใจทั้งหมด ถ้าสุดท้ายแล้วมันไม่เหมาะกับเราก็มูฟออนไปทำสิ่งอื่นแทน สักวันหนึ่งการลงมือทำของเราจะเป็นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ เราอาจจะเอาตัวที่ 2 มาผสมกับ 4 จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เป็นตัวของเราเองก็ได้ ที่สำคัญเมื่อเจอสิ่งนั้นแล้วก็อย่าลืมพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เราเก่งขึ้นกว่าในทุกๆ วัน

 

จากที่ได้พูดคุยกับพี่กล้อง ทำให้ได้เรียนรู้ว่า เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สิ่งที่เราทำมันจะออกมาดีหรือไม่ดี ก็ต่อเมื่อเราต้องลงมือทำแล้วเท่านั้น และที่สำคัญคือเราต้องเชื่อมั่นว่าในตัวเองเสมอว่า เราทำได้ ถึงแม้ทำไปแล้วอาจจะผิดพลาด ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ระหว่างทางเราอาจจะเห็นอะไรหลายอย่างที่นำมาต่อยอดจากอันเดิม และกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมาได้เช่นกัน

 ทีมงานต้องขอขอบคุณ พี่กล้อง อาริยะ คำภิโล ผู้่ก่อตั้งแบรนด์ Jones’ Salad ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับทาง Dek-D.com รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สำหรับข้อมูลในบทความนี้ด้วยนะคะ